ประเทศไทยหลังสงคราม ของ ประวัติศาสตร์ไทย (พ.ศ. 2475–2516)

การเจรจาหลังสงคราม

หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมชเป็นนายกรัฐมนตรีใน พ.ศ. 2488 และพลันฟื้นฟูชื่อ "สยาม" เป็นสัญลักษณ์แห่งการยุติระบอบชาตินิยมของจอมพลแปลก ทว่า เขาพบว่าตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐมนตรีที่มีแต่ผู้ภักดีต่อปรีดีนั้นค่อนข้างไม่สุขสบาย นักการเมืองประชานิยมภาคอีสานอย่างเตียง ศิริขันธ์และผู้เลื่อนฐานะทางสังคมอย่างรวดเร็ว (upstart) ชาวกรุงเทพมหานคร เช่น สงวน ตุลารักษ์ ไม่ใช่คนแบบที่อภิชนหม่อมราชวงศ์เสนีย์ชอบร่วมงานด้วย พวกเขาจึงมองว่าหม่อมราชวงศ์เสนีย์เป็นอภิชนที่ไม่เคยสัมผัสความเป็นจริงทางการเมืองของประเทศไทยเลย

หลังสงครามบรรดาผู้นำพลเรือนขาดความสามัคคีซึ่งทำลายโอกาสต่อสู้กับผู้นำทหาร เนื่องจากความพยายามของสงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตรของขบวนการเสรีไทย สหรัฐจึงละเว้นปฏิบัติประเทศไทยเสมือนประเทศศัตรูในการเจรจาสันติภาพ แต่บริเตนต้องการให้ไทยจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามเป็นข้าว ฝรั่งเศสไม่ยอมรับไทยเข้าสู่สหประชาชาติจนกว่าส่งมอบดินแดนของอินโดจีนคืน และสหภาพโซเวียตให้เลิกกฎหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์[2]:31 ประเทศไทยลงนามความตกลงสมบูรณ์แบบ รัฐบาลจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามเป็นข้าวได้ภายใน 2 ปี[2]:31 ประเทศไทยลงนามข้อตกลงวอชิงตัน พ.ศ. 2489 มีการคืนดินแดนที่ถูกผนวกหลังกรณีพิพาทอินโดจีน ได้แก่ จังหวัดพิบูลสงคราม, จังหวัดนครจัมปาศักดิ์, จังหวัดพระตะบอง, จังหวัดเกาะกงและจังหวัดลานช้าง ให้แก่ประเทศกัมพูชาและลาว

มีการจัดการเลือกตั้งประชาธิปไตยในเดือนมกราคม 2489 เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่พรรคการเมืองชอบด้วยกฎหมาย และคณะราษฎรของปรีดีและพันธมิตรชนะฝ่ายข้างมาก ในเดือนมีนาคม 1946 ปรีดีเป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยคนแรก

การผลัดแผ่นดิน

พระราชพิธีราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ในเดือนธันวาคม 2488 ยุวกษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จนิวัตประเทศจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ แต่ในเดือนมิถุนายน 2489 พระองค์ทรงถูกพบว่าสวรรคตบนแท่นบรรทมในสภาวะน่าสงสัย จากเหตุดังกล่าวมีข้าราชบริพารสามคน เฉลียว ปทุมรส, ชิต สิงหเสนี และบุศย์ ปัทมศรินถูกประหารชีวิตฐานประทุษร้ายต่อพระเจ้าอยู่หัว คดีนี้ยังเป็นความลับและหัวข้อละเอียดอ่อนอย่างยิ่งในประเทศไทยปัจจุบัน พระอนุชา สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลเดช สืบราชสมบัติต่อ ในเดือนสิงหาคม ปรีดีถูกบีบให้ลาออกท่ามกลางข้อสงสัยว่าเขาเกี่ยวข้องกับการลอบปลงพระชนม์ รัฐบาลพลเรือนกระเสือกกระสนหลังปรีดีพ้นตำแหน่ง และในเดือนพฤศจิกายน 2490 กองทัพยึดอำนาจ หลังรัฐบาลชั่วคราวควง ในเดือนเมษายน 2491 กองทัพนำจอมพล ป. กลับจากการลี้ภัยและให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรี กลับกันปรีดีเป็นฝ่ายลี้ภัย จนสุดท้ายไปพำนักในกรุงปักกิ่งในฐานะแขกของสาธารณรัฐประชาชนจีน

วิกิซอร์ซมี คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1544/2497 ในคดีระหว่างพนักงานอัยการ โจทก์ กับเฉลียว ปทุมรส ที่ 1 ชิต สิงหเสนี ที่ 2 และบุศย์ ปัทมศริน ที่ 3 จำเลย

รัฐบาลจอมพล ป. รอบสอง

การหวนคืนอำนาจของจอมพล ป. ประจวบกับการเริ่มต้นของสงครามเย็นและการสถาปนาระบอบคอมมิวนิสต์ในประเทศเวียดนามเหนือ เขาจึงได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ เป็นจุดเริ่มต้นของธรรมเนียมระบอบทหารในประเทศไทยที่สหรัฐสนับสนุนมายาวนาน

คู่แข่งการเมืองถูกจับกุมและพิจารณาคดีอีกครั้ง มีบางคนถูกประหารชีวิต บุคคลสำคัญสมัยเสรีไทยหลายคน รวมทั้ง ทองอินทร์ ภูริพัฒน์, ถวิล อุดล, จำลอง ดาวเรือง และทองเปลว ชลภูมิ ถูกตำรวจวิสามัญฆาตกรรม (คดีฆ่า 4 อดีตรัฐมนตรี พ.ศ. 2492) ดำเนินการโดยพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ มีความพยายามรัฐประหารซ้อนจากผู้สนับสนุนปรีดีในปี 2491, 2492 และ 2494 รัฐประหารในปี 2492 นำไปสู่การต่อสู้อย่างหนักระหว่างกองทัพบกและกองทัพเรือก่อนจอมพล ป. เป็นฝ่ายชนะ ในความพยายามรัฐประหารปี 2494 ที่มีชื่อเสียงว่า "กบฏแมนฮัตตัน" จอมพล ป. เกือบถูกฆ่าเมื่อเรือที่เขาถูกจับเป็นตัวประกันถูกกองทัพอากาศฝ่ายนิยมรัฐบาลทิ้งระเบิดใส่

ในปี 2492 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สถาปนาวุฒิสภาซึ่งรัฐบาลแต่งตั้ง แต่ในปี 2494 รัฐบาลเลิกรัฐธรรมนูญของตนเองแล้วกลับไปใช้แบบปี 2475 รัฐสภาไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอีกต่อไป ทำให้เกิดการคัดค้านอย่างหนักจากมหาวิทยาลัยและสื่อ และมีการพิจารณาคดีและปราบปรามรอบใหม่ ทว่า รัฐบาลได้รับการช่วยเหลือจากเศรษฐกิจบูมซึ่งเกิดขึ้นตลอดคริสต์ทศวรรษ 1950 อันเนื่องจากการส่งออกข้าวและเงินช่วยเหลือจากสหรัฐ เศรษฐกิจไทยเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น ประชากรและการกลายเป็นเมืองเพิ่มขึ้น